มาเช็ก….กลุ่มที่เสี่ยงต่อภาวะ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นหนึ่งในปัญหาที่มีคนไข้มาเข้ารับการตรวจเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะบ่อยครั้ง โดยส่วนมากเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และมักพบในคนไข้ที่มีภาวะสูงวัย ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานของร่างกายมีความผิดปกติเนื่องจากความเสื่อมของร่างกายนั่นเองค่ะ เพื่อให้คนไข้เข้าใจถึงสาเหตุหรือที่มา และแนวทางการรักษา การอ่านบทความนี้อาจช่วยลดปัจจัยเสี่ยง และทำให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้นะคะ
กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เกิดจากอะไร
กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Urinary incontinence) คือภาวะที่สามารถเกิดได้ในขณะที่คนไข้ทำกิจกรรม เช่น ไอ จาม เดิน วิ่ง หรือยกของหนัก ซึ่งเกิดจากท่อปัสสาวะไม่สามารถปิดได้สนิทเมื่อทำกิจกรรมที่เพิ่มความดันภายในช่องท้อง ขณะกักเก็บน้ำปัสสาวะ และมักจะเกิดในสาว ๆ มากกว่าหนุ่ม ๆ ค่ะ
นอกจากนี้ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ยังส่งผลกระทบให้คนไข้ได้อีก 2 ด้านค่ะ คือผลกระทบทางกาย ได้แก่ เกิดแผลหรือผื่นจากการอับชื้นบริเวณอวัยวะเพศ และผลกระทบทางใจ ได้แก่ อาการซึมเศร้า อาการเขินอาย ส่งผลทำให้ไม่กล้าเข้าสังคมได้ตามปกติค่ะ ดังนั้นหากเข้าใจถึงปัญหาแล้ว ควรเข้ารับการดูแลรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางนะคะ
คนไข้ส่วนมากพยายามปกปิดภาวะดังกล่าวไว้ จึงทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในสาว ๆ นั้นมีหลายชนิดอาจมีความซับซ้อนแตกต่างกัน ที่สำคัญภาวะนี้อาจพบร่วมกับภาวะอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน (Pelvic Organ Prolapse) ได้บ่อย ๆ ดังนั้นคนไข้ที่มีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการประเมิน และการรักษาที่ถูกต้อง
อาการที่ส่งผลให้ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ นั้นถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มค่ะ คือภาวะกลั้นน้ำปัสสาวะไม่ได้แบบชั่วคราว (Transient urinary incontinence) และภาวะกลั้นน้ำปัสสาวะไม่ได้แบบถาวร(Permanent urinary incontinence) โดยทั้งสองกลุ่มมีอะไรบ้างไปดูกันได้เลยค่ะ
ภาวะกลั้นน้ำปัสสาวะไม่ได้แบบชั่วคราว (Transient urinary incontinence)
- คนไข้ที่มีอาการเพ้อสับสน (Delirium)
- คนไข้ที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือติดเชื้อในระบบอื่น ๆ ของร่างกาย (Infection)
- สาว ๆ ที่มีปัญหาท่อปัสสาวะหรือช่องคลอดแห้งจากการขาดฮอร์โมน (Atrophic vaginitis)
- คนไข้ที่มีการใช้ยาบางกลุ่ม เช่น ยาลดความดัน และยาที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทค่ะ
- คนไข้ที่ไม่สามารถขยับร่างกายได้หลังจากผ่านการผ่าตัดมา หรือมีปัญหาท้องผูก ภาวะกลั้นน้ำปัสสาวะไม่ได้แบบถาวร (Permanent urinary incontinence)
ภาวะกลั้นน้ำปัสสาวะไม่ได้แบบถาวร (Permanent urinary incontinence)
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ขณะไอหรือจาม
- อาการปัสสาวะรดที่นอนโดยไม่รู้ตัว
- อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ระหว่างมีเพศสัมพันธ์
- อาการปัสสาวะไหลหรือซึมออกมาโดยไม่รู้ตัว เช่น มีปัสสาวะไหลขณะเปลี่ยนท่าทางตอนนอน
อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ทั้งแบบถาวร และแบบชั่วคราว จึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รู้ถึงที่มาของปัญหาได้อย่างชัดเจนค่ะ ถึงอย่างไรหากคนไข้ที่มีอาการคล้าย ๆ ทั้งสองแบบก็ขอแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาได้อย่างถูกวิธีนะคะ
กลั้นปัสสาวะ ไม่อยู่มีกี่ชนิด
กลั้นปัสสาวะไม่อยู่เกิดจากความผิดปกติทางด้านจิตใจ และร่างกายที่ส่งผลทำให้คนไข้เข้าห้องน้ำไม่ทัน เช่น ผู้ป่วยมีอาการข้ออักเสบอย่างรุนแรง จนอาจกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เนื่องจากอาการป่วยทำให้ถอดกางเกงได้ช้าคะ แต่ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่นั้นได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทที่พบเห็นได้บ่อยดังนี้ค่ะ
ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หลังมีการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง (Stress Urinary Incontinence)
อาการไอหรือจามทำให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ โดยปกติแล้วสาว ๆ จะมีเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่พยุงท่อปัสสาวะให้อยู่นิ่ง และช่วยทำหน้าที่อุดกั้นท่อปัสสาวะเมื่อเกิดการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง เช่น การไอหรือจาม การหัวเราะ การออกกำลังกาย แต่หากเกิดการบาดเจ็บหรือเสื่อมสภาพบริเวณดังกล่าว ย่อมทำให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ตามหลังการเพิ่มแรงดันในท้องได้ค่ะ
ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หลังมีอาการปวดปัสสาวะฉับพลัน (Urgency Incontinence)
ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากกระเพาะปัสสาวะมีการบีบตัวไวเกิน โดยมักมีอาการตามหลังอาการปวดปัสสาวะฉับพลัน ซึ่งอาจมีอาการเกิดขึ้นเองหรือมีปัจจัยบางอย่างกระตุ้น เช่น การถอดกางเกงชั้นใน การเปิดประตูห้องน้ำ การล้างมือด้วยน้ำเย็น เป็นต้นค่ะ นอกจากนี้สาว ๆ อาจมีอาการปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ (มากกว่า 7 ครั้ง) และปัสสาวะบ่อยเวลากลางคืนนั่นเองค่ะ
นอกจากนี้แล้วยังพบว่ามีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่อีกหลายชนิด แต่อาจพบได้น้อยกว่า ได้แก่ ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ขณะเปลี่ยนท่าทาง ภาวะปัสสาวะรดที่นอน ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ตลอดเวลา ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่แบบไม่รู้สึกตัว และภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ขณะมีเพศสัมพันธ์นั่นเองค่ะ
ใครบ้างที่มีโอกาสเสี่ยง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
สำหรับคนไข้ที่มีปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่แต่ไม่รู้ตัวหรือไม่แน่ใจว่าตัวเองเข้าข่ายหรือไม่ วันนี้จะขอมาให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับว่า ใครบ้างที่มีโอกาสเสี่ยงภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ดังนี้เลยค่ะ
- ผู้หญิงตั้งครรภ์ และผู้หญิงที่คลอดบุตรด้วยวิธีธรรมชาติ ส่งผลให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อน จนเกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ตามมาได้ค่ะ
- ผู้ชายที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่อมลูกหมากโต (พบบ่อยในผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป) ซึ่งมักพบปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ตามมาได้เช่นกันค่ะ
- ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือมีค่า BMI มากกว่า 23 จนเกิดแรงกดทับที่กระเพาะปัสสาวะ (หาค่า BMI ด้วยตัวเองได้ที่ >> BMI คือ)
- คนที่มีโรคประจำตัวบางชนิดที่ส่งผลต่อการกลั้นปัสสาวะ เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคทางสมอง ฯลฯ
- คนวัยทำงานไปจนถึงวัยทอง ซึ่งเกิดจากความเสื่อมของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน และกล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะปัสสาวะ
- สาว ๆ ในวัยหมดประจำเดือน ทำให้เกิดภาวะฮอร์โมนเอสโตรเจนบกพร่อง ทำให้เนื้อเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะรวมถึงท่อปัสสาวะเสื่อมสภาพตามไปด้วย
- คนที่ชอบกลั้นปัสสาวะบ่อย ๆ ไม่ชอบลุกไปเข้าห้องน้ำ จนอาจทำให้เกิดความผิดปกติที่หูรูดกระเพาะปัสสาวะ
- คนที่มีอาการท้องผูกเรื้อรัง ทำให้ต้องออกแรงเบ่งเป็นประจำ สามารถเสี่ยงภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้ค่ะ
- คนที่มีภาวะไอเรื้อรัง ที่ทำให้เกิดแรงดันในช่องท้อง
- คนที่ออกกำลังกายหนัก ๆ หรือยกของหนัก ๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอย่างต่อเนื่อง
วิธีการรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
วิธีการรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่จะถูกแบ่งออกมาหลายประเภทค่ะ ตั้งแต่วิธีการพื้นฐานจนถึงขั้นเข้ารับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางโดยตรง โดยมีวิธีการอย่างไรบ้างไปดูกันค่ะ
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Lifestyle Modification)
- การลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนจะช่วยให้อาการเหล่านี้ดีขึ้นได้ค่ะ
- การรักษาอาการท้องผูกของคนไข้ที่มีอาการท้องผูกเป็นประจำอาจช่วยลดอาการได้
- การดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม เนื่องจากคนไข้ที่ดื่มน้ำมากเกินไป อาจมีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือปัสสาวะได้บ่อยกว่าปกติ อย่างไรก็ควรระมัดระวังปริมาณน้ำที่ดื่มด้วยนะคะ เพราะอาจทำให้คนไข้ร่างกายขาดน้ำ
- การหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มบางชนิด เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม โซดา น้ำผลไม้ แอลกอฮอล์ รวมถึงอาหารบางชนิดที่มีรสชาติเปรี้ยวจัดหรือเผ็ดจัด สามารถทำให้มีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้ค่ะ
การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Pelvic Floor Muscle Training)
กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่แข็งแรงจะช่วยบำบัดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้ดีค่ะ แต่การบริหารจะได้ผลดีที่สุดเมื่อฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง และมีวินัยเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน อย่างไรก็ตามคนไข้ควรเริ่มฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เนื่องจากมีคนไข้บางรายบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแบบผิดวิธี จึงทำให้ไม่เห็นผล
การฝึกการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Training)
การมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้กระเพาะปัสสาวะเก็บปัสสาวะได้มากขึ้น วิธีการฝึกคือการค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาระหว่างการไปเข้าห้องนํ้ากับการพยายามกลั้นปัสสาวะให้นานขึ้นทีละน้อย เมื่อมีความรู้สึกต้องการปัสสาวะ อย่างไรก็ตามการฝึกการทำงานของกระเพาะปัสสาวะควรฝึกภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางนะคะ เพื่อผลลัพธ์ที่ดี และเป็นที่พึงพอใจของคนไข้นั่นเองค่ะ
การใช้ยา
ยาที่ใช้กลุ่มนี้จะออกฤทธิ์แบบคลายกล้ามเนื้อบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งจะช่วยให้กลั้นปัสสาวะได้นานขึ้น และช่วยลดภาวะปัสสาวะราด อย่างไรก็ตามสาว ๆ อาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น อาการปากแห้ง ตาแห้ง ท้องผูก ยากลุ่มนี้มีหลายชนิดบางครั้งคนไข้อาจต้องเปลี่ยนชนิดยา 1 – 2 ครั้ง จึงจะพบยาที่ช่วยบรรเทาอาการได้ดีที่สุด โดยทั่วไปการใช้ยาถือเป็นการรักษาที่มาเสริมกับการรักษาหลักที่ได้กล่าวไปข้างต้น และมักจะใช้ยาเป็นระยะเวลาเพียงประมาณ 3 เดือนเท่านั้น
การฉีดโบทูลินัม ท็อกซิน (Botulinum Toxin)
เป็นการส่องกล้องเข้าไปบริเวณกระเพาะปัสสาวะ และแพทย์จะทำการฉีดท็อกซินเข้าไปในผนังของกระเพาะปัสสาวะ เพื่อให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะคลายตัว จะช่วยลดการปวดปัสสาวะแบบฉับพลัน ได้ และช่วยให้กระเพาะปัสสาวะสามารถเก็บปัสสาวะได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามท็อกซินจะออกฤทธิ์อยู่ได้นานประมาณ 6 – 9 เดือน หลังจากนั้นอาจต้องมีการฉีดซํ้า ซึ่งสาว ๆ ส่วนหนึ่งอาจมีอาการปัสสาวะยากหรือปัสสาวะคั่งตามมา และจำเป็นต้องใช้การสวนปัสสาวะช่วงระยะเวลาหนึ่ง