ภาวะปัสสาวะเล็ดไม่ใช่เรื่องตลกสำหรับผู้หญิง

ภาวะปัสสาวะเล็ด …ไม่ใช่เรื่องตลกสำหรับผู้หญิง

ภาวะปัสสาวะเล็ด หรืออาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่พบได้บ่อยในผู้หญิงค่ะ แต่ผู้หญิงส่วนมากมักคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว เพราะเข้าใจกันว่าเป็นภาวะที่เกิดได้เฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น ซึ่งความจริงแล้วปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงาน และยังไม่ผ่านการคลอดลูกได้ค่ะ

ภาวะปัสสาวะเล็ดคืออะไร-news

ภาวะปัสสาวะเล็ด คืออะไร

ภาวะปัสสาวะเล็ด คือปัญหาสุขภาพในกลุ่มโรคเรื้อรังที่สามารถพบได้ในผู้หญิงทั่วโลกเลยค่ะ โดยอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่สามารถ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มดังนี้

  • กลุ่มแรกมักพบในคนที่มีโรคทางระบบประสาท และสมองร่วมด้วยโดยมีปัสสาวะไหลตลอดเวลา (Overflow) จนต้องใช้แผ่นอนามัยซับ เพียงแค่เดินปกติหรือเดินเร็วหน่อยปัสสาวะก็เล็ดแล้วค่ะ
  • กลุ่มที่สองปัสสาวะเล็ดเวลาออกแรงโดยเฉพาะเวลาทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ไอ จาม เล่นกีฬา และยกของหนัก กลุ่มนี้จะพบได้ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยทั้งหมดค่ะ
  • กลุ่มที่สามเรียกว่ากระเพาะปัสสาวะไวเกินไป เมื่อเริ่มรู้สึกปวดกำลังจะลุกไปเข้าห้องน้ำ ปัสสาวะมักเล็ดออกมาเสียก่อน และมักพบว่าจะมีอาการปัสสาวะบ่อยกว่าปกติค่ะ

สาเหตุของ ภาวะปัสสาวะเล็ด

ภาวะปัสสาวะเล็ดอาจมาจากการมีแรงดันสะสมในช่องท้องติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้กล้ามเนื้อในผนังช่องคลอดเกิดการหย่อน กระเพาะปัสสาวะ และทางเดินปัสสาวะมีการเปลี่ยนมุม เมื่อออกแรงยกของหนักหรือเล่นกีฬาจะเป็นการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง ปัสสาวะจึงเล็ดออกมาได้ค่ะ ส่วนการที่ผนังช่องคลอดหย่อนสามารถเกิดได้จากหลายกรณีด้วยกัน เช่น น้ำหนักตัวเยอะ ท้องผูกเรื้อรัง ทำให้มีแรงดันในช่องท้องเยอะอยู่ตลอดเวลานั่นเองค่ะ

นอกจากนี้สาเหตุของปัสสาวะเล็ดยังสามารถเกิดได้กับผู้หญิงที่ชอบออกกำลังกายหนัก และยกของหนักมาก ๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ หรือแม้กระทั่งการตั้งครรภ์ และการคลอดบุตรค่ะ โดยเฉพาะในกรณีที่คลอดบุตรลำบาก จะส่งผลทำให้เนื้อเยื่อในช่องคลอดหย่อน และบาดเจ็บได้ค่ะหรือที่เรียกกันว่ากระบังลมหย่อน ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะปัสสาวะเล็ดเวลาออกแรงได้ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ไม่ได้ทำกายบริหารอย่างถูกวิธีในช่วงหลังคลอดค่ะ ถึงอย่างไรสาเหตุของปัสสาวะเล็ดอาจเกิดขึ้นได้จากพฤติกรรมการใช้ชีวิต อาการเจ็บป่วย หรือความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เกิดขึ้นในร่างกาย ดังนี้

การรับประทานอาหาร และการใช้ยา

  1. รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด เช่น แอลกอฮอล์ น้ำอัดลม น้ำตาลเทียม ช็อกโกแลต พริกไทย ผลไม้จำพวกส้ม อาหารที่มีเครื่องเทศ น้ำตาล หรือมีกรดในปริมาณมาก เป็นต้น
  2. ใช้ยารักษาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท ยารักษาความดันโลหิตสูง ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาขับปัสสาวะ ฮอร์โมนทดแทน เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย

  1. ภาวะตั้งครรภ์เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายของคุณแม่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง รวมถึงน้ำหนักของทารกในครรภ์ที่เพิ่มขึ้นก็อาจทำให้มีอาการปัสสาวะเล็ดในช่วงนี้ได้
  2. การคลอดลูก เพราะกล้ามเนื้อที่ควบคุมกระเพาะปัสสาวะอาจอ่อนแอลงจนทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อน ทั้งยังทำให้กระเพาะปัสสาวะ มดลูก ลำไส้ใหญ่ และลำไส้เล็กเกิดการเคลื่อนที่จนยื่นเข้าไปในช่องคลอด ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะเล็ดตามมาได้ค่ะ
  3. ผ่านการผ่าตัดมดลูก กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอาจเกิดความเสียหาย จนทำให้ส่งผลกระทบต่อกระเพาะปัสสาวะไปด้วยค่ะ
  4. เข้าสู่วัยสูงอายุ หรืออยู่ในวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น สามารถส่งผลทำให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะเกิดความเปลี่ยนแปลง และบรรจุน้ำปัสสาวะได้น้อยลง ส่วนคนไข้ที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้น้อยลง ซึ่งฮอร์โมนนี้จะช่วยให้เยื่อบุในกระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะมีความแข็งแรง ดังนั้น เมื่อมีการผลิตฮอร์โมนนี้น้อยลงจึงทำให้เนื้อเยื่อดังกล่าวเสื่อมสภาพ และส่งผลให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดได้ค่ะ

ภาวะเจ็บป่วย

  • คนไข้ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจทำให้กระเพาะปัสสาวะเกิดการระคายเคือง และมีอาการปวดปัสสาวะมากผิดปกติหรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่นั่นเองค่ะ
  • คนไข้มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะไม่ออกเรื้อรัง เนื่องจากมีเนื้องอกกระเพาะปัสสาวะทะลุ มีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้นค่ะ
  • 3.คนไข้ที่มีอาการท้องผูก เนื่องจากทางทวารหนักนั้นอยู่ใกล้กับกระเพาะปัสสาวะ และมีเส้นประสาทหลายเส้นร่วมกัน เมื่อเกิดการสะสมของอุจจาระจำนวนมาก จึงอาจไปกระตุ้นการทำงานของเส้นประสาทในบริเวณดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกระเพาะปัสสาวะทำให้มีอาการปัสสาวะเล็ดได้เช่นกันค่ะ
  • 4.คนไข้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคพาร์กินสัน โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกในสมอง หรือการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง เป็นต้น เนื่องจากโรคเหล่านี้อาจส่งผลต่อการส่งสัญญาณประสาทที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมกระเพาะปัสสาวะ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไข้ปัสสาวะเล็ดได้นั่นเองค่ะ
อาการของภาวะปัสสาวะเล็ด-news

อาการของ ภาวะปัสสาวะเล็ด

ส่วนมากอาการปัสสาวะเล็ดจะไม่สามารถควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้ ทำให้มีปัสสาวะไหลหรือเล็ดออกมาแบบไม่ตั้งใจค่ะ และบางกรณีอาจรู้สึกปวดมากเวลาอยากปัสสาวะจนทำให้กลั้นไว้ไม่อยู่ โดยอาจเกิดขึ้นขณะไอ จาม หัวเราะ ออกกำลังกาย และยกของหนัก ซึ่งปกติแล้วจะพบในผู้หญิงสูงอายุ แต่ก็สามารถพบได้ในผู้หญิงอายุน้อยด้วยเช่นกันค่ะ โดยแบ่งอาการเป็น 4 หัวข้อใหญ่ได้ดังนี้ค่ะ

  • ภาวะปัสสาวะเล็ดเนื่องจากการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง (Stress Urinary Incontinence; SUI)

เป็นภาวะที่มีอาการปัสสาวะเล็ดออกมา เพราะการเพิ่มแรงกดในกระเพาะปัสสาวะหรือเพิ่มแรงดันในช่องท้อง เช่น ไอ จาม เบ่ง หัวเราะ ออกกำลังกาย เป็นต้น และอาจเกิดเมื่อมีการเปลี่ยนท่าทาง เช่น เดิน วิ่ง ก้าวขึ้นบันได ก้มลงยกของหนัก เป็นต้น ซึ่งภาวะนี้เกิดจากหูรูดท่อปัสสาวะทำงานผิดปกติ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายค่ะ โดยเฉพาะผู้หญิงในกลุ่มที่เริ่มมีอายุหรือน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น และอีกหนึ่งกรณีคือเคยมีประวัติคลอดบุตรยากหรือคลอดบุตรตัวโต จึงทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน และกระเพาะปัสสาวะหย่อนยานได้นั่นเองค่ะ

  • ภาวะปัสสาวะราด (Urge Urinary Incontinence; UUI)

เป็นภาวะที่มีอาการปัสสาวะราดออกมา หลังมีอาการปวดปัสสาวะค่ะ พูดง่าย ๆ คือมีอาการปวดปัสสาวะมากไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้นานพอ ทำให้ปัสสาวะราดออกมาทั้งหมดทันที โดยไม่สามารถเข้าห้องน้ำได้ทันเวลา ภาวะนี้เกิดจากกระเพาะปัสสาวะมีการบีบตัวไวเกินค่ะ

  • ภาวะปัสสาวะเล็ดราด (Mixed Urinary Incontinence; MUI)

เป็นภาวะที่เกิดจากมีอาการปวดปัสสาวะเฉียบพลัน และหลังจากมีการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง โดยผู้ป่วยจะมีทั้งอาการคล้ายกับปัสสาวะราด (UUI) และปัสสาวะเล็ด(MUI) ร่วมกัน ภาวะนี้พบได้ทั้งในผู้ชาย และผู้หญิงในปริมาณเท่า ๆ กันค่ะ

  • ภาวะปัสสาวะล้น (Overflow Urinary Incontinence)

เป็นภาวะที่ผู้ป่วยกลั้นปัสสาวะไม่ได้ เมื่อมีน้ำปัสสาวะค้างในกระเพาะหรือปัสสาวะในปริมาณมาก และแรงดันในกระเพาะปัสสาวะสูงกว่าแรงดันที่หูรูดท่อปัสสาวะ จึงทำให้ปัสสาวะไหลล้นออกมา ภาวะนี้เกิดได้ในคนไข้ที่มีระบบประสาทที่ควบคุมกระเพาะปัสสาวะเสียไปจากอุบัติเหตุค่ะ เช่น เนื้องอก หรือ โรคเบาหวาน เป็นต้นค่ะ

แนวทางการรักษาภาวะปัสสาวะเล็ด

แนวทางในการรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดมีด้วยกัน 2 วิธี ได้แก่ การรักษาแบบประคับประคอง และการรักษาโดยการผ่าตัดใช้เลเซอร์ รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมค่ะ โดยมีการรักษาดังนี้

  • การรักษาแบบประคับประคอง

เป็นการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน โดยการฝึกขมิบช่องคลอด (Kegel Exercise) เป็นประจำทุกวัน ถูกจัดให้เป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดในการป้องกัน และรักษาปัสสาวะเล็ด หลังปฏิบัติเป็นประจำ 3 – 6 เดือน จะได้ผลดีค่ะ แต่หากหยุดจะทำให้กลับมาเป็นซ้ำอีก นอกจากนี้คนไข้ที่มีอาการเพียงเล็กน้อย หรือคนไข้ที่กำลังอยู่ในระหว่างรอการผ่าตัดรักษา แพทย์อาจพิจารณาใส่ผ้าอนามัยแบบสอดเพื่อลดการเล็ดของปัสสาวะ สำหรับภาวะปัสสาวะราดสามารถรักษาแบบประคับประคองได้ โดยการฝึกกำหนดช่วงเวลาในการขับถ่ายปัสสาวะ โดยพยายามฝึกกลั้นปัสสาวะให้นานที่สุดนั่นเองค่ะ

  • การรักษาโดยการผ่าตัดใช้เลเซอร์

การนำเลเซอร์มาใช้ในการรักษาภาวะปัสสาวะเล็ด จะเหมาะกับคนไข้ที่มีอาการไม่รุนแรง และมีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ เป็นการรักษาที่ไม่มีบาดแผล ไม่เจ็บปวด และไม่มีการสูญเสียเลือด อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยเลเซอร์ไม่สามารถรักษาปัสสาวะเล็ดได้อย่างหายขาดนะคะ

  • การรักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ถือว่าเป็นอีกทางเลือกที่คนไข้ให้ความสนใน เนื่องจากสามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยหยุดพฤติกรรมหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะปัสสาวะเล็ด เช่น การลดน้ำหนัก เปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหาร หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ คาเฟอีน และน้ำอัดลม อาจสามารถช่วยให้รักษาภาวะปัสสาวะเล็ดได้ชั่วขณะค่ะ

ข้อควรปฎิบัติเพื่อลดปัญหาปัสสาวะเล็ด

ปัญหาปัสสาวะเล็ดรวมถึงการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ของคนไข้ไม่ใช่เรื่องปกติตามวัยที่ควรมองข้ามนะคะ หากผู้ป่วยปฏิบัติตัวอย่างดีแล้ว แต่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาปัสสาวะเล็ดราดได้ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย หาสาเหตุ และทำการรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ และมีความสุขต่อไป ดังนั้นคนไข้จึงควรทำตามข้อปฎิบัติให้ครบถ้วนเพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่างโดยมีหัวข้อดังนี้ค่ะ

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีกากใยสูงเพื่อป้องกันอาการท้องผูก จะสามารถช่วยลดปัญหาปัสสาวะเล็ดได้ค่ะ
  • หลีกเลี่ยงยาบางชนิด โดยปรึกษาแพทย์ว่ายาตัวใดมีผลต่อปัญหาปัสสาวะเล็ดค่ะ
  • ดูแล และควบคุมโรคประจำตัว รวมถึงรักษาอาการไอจามเรื้อรัง รักษาอาการท้องผูกจะสามารถลดปัญหาปัสสาวะเล็ดได้ค่ะ
  • ออกกำลังกายที่เหมาะสมครั้งละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน อย่างเช่น การฝึกขมิบช่องคลอด ซึ่งเป็นการบริหารกล้ามเนื้อเชิงกรานให้แข็งแรงขึ้นค่ะ
  • การปรับพฤติกรรม โดยงดเครื่องดื่มคาเฟอีน (ชา กาแฟ โกโก้ น้ำอัดลม) เนื่องจากคาเฟอีนมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ รวมถึงไม่ควรดื่มน้ำมากเกินไป ปริมาณน้ำที่ควรดื่มต่อวันคือ 1 – 1.5 ลิตร โดยค่อยๆ แบ่งดื่มไปตลอดวัน เป็นการปรับพฤติกรรม และลดปัญหาปัสสาวะเล็ดได้ค่ะ

Similar Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *